เหรียญพญาวันมหาโชค ถือว่าเป็นพระดีพิธีที่ใหญ่ ชื่อเป็นมงคล ปลุกเสกโดยหลวงพ่อเกษม เขมโก ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2536(ตรงกับวันพญาวัน) เหรียญรุ่นนี้แกะบล็อกพิมพ์โดยอาจารย์อ๊อด เทวดา(ช่างประหยัด ลออพันธ์) ลูกศิษย์ของนายช่างเกษม มงคลเจริญ โดยความงดงามในการแกะบล็อกนั้นถือว่าไม่ได้ด้อยไปกว่าผู้เป็นอาจารย์เลย
เหรียญรุ่นนี้จะอยู่ในพิธีเดียวกันกับเหรียญกองพันสองอันโด่งดัง (เหรียญพญาวันมหาโชคเป็นเหรียญหลักในพิธี) ซื่งจริงๆแล้วราคาเหรียญพญาวันมหาโชคนั้นควรจะสูงตามเหรียญกองพันสองไปด้วยเพราะสร้างน้อยกว่าเหรียญพันสองซะอีก
จำนวนการสร้างเหรียญพญาวันมหาโชค (ข้อมูลจากท่าน น้อย เมืองมีน admin กลุ่มอนุรักษ์พระเครื่องหลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านนี้เป็นผู้ที่สร้างประโยชน์ให้กับวงการพระเครื่องพลวงพ่อเกษม เขมโก เป็นอย่างมากเลยครับ)
- เนื้อทองคำ 205 ชุด (ชุดกรรมการรวมเนื้อทองคำ , เนื้อเงิน , เนื้อนวะ และเนื้อทองแดง)
- เนื้อเงิน 2,248 เหรียญ (ตอกโค้ด และตอกเลขรันนัมเบอร์ทุกองค์)
- เนื้อนวะ 2,504 เหรียญ (ตอกโค้ด และตอกเลขรันนัมเบอร์ทุกองค์)
- เนื้อทองแดง 2,205 เหรียญ (มี 205เหรียญที่อยู่ในชุดกรรมการจะมีการตอกเลขกำกับ และที่เหลือจะเป็นการตอกโค้ดธรรมดา ไม่ได้ตอกเลขรันนัมเบอร์)
วัตถุประสงค์ในการจัดสร้าง(เจ้าประเวทย์ ณ ลำปาง เป็นประธานในการจัดสร้าง)
- เพื่อหารายได้สร้างรูปเหมือนสูง 9 เมตร บริเวณหน้าสุสานไตรลักษณ์
- เพื่อสาธารณะประโยชน์อื่นๆด้วย
สำหรับเนื้อหาในวันนี้ผมขออนุญาติพูดถึงเฉพาะตำหนิของเนื้อนวะก่อนนะครับ โดยเนื้อนวะโลหะคือการนำโลหะ 9 ชนิดมาหลอมรวมกัน อาทิเช่น ทองแดง เงิน ทองคำ ทำให้มีสีสันที่แตกต่างจากเหรียญเนื้ออื่นๆอย่างเห็นได้ชัดคือ จะมีความไม่สม่ำเสมอของสีผิว บางจุดก็มีแซมทอง บางจุดก็มีแซมทองแดง เป็นต้น
ตำหนิเหรียญพญาวันมหาโชค เนื้อนวะด้านหน้า
1) ที่พื้นของหูเหรียญ ด้านล่างจะมีตุ่มเม็ดเล็กๆอยู่ และตามพื้นของหูเหรียญก็จะเห็นเส้นเสี้ยนจากการแกะบล็อกด้วย
2) เหนือศีรษะหลวงพ่อเยื้องไปทางซ้ายเล็กน้อย จะมีเส้นแตกพุ่งเฉียงขึ้นไปจนถึงขอบเหรียญ(เห็นชัดด้วยตาเปล่า)
3) ตรงขวาสุดของร่องไหปลาร้าของหลวงพ่อ จะมีเส้นขีดคมๆบางๆพุ่งยาวขึ้นไป
4) ตรงพื้นคอเหรียญ(ฝั่งขวามือของเรา) จะมีเส้นขีดเฉียงประมาณ 45 องศาสั้นๆ 1 เส้น
5) ตามพื้นของขอบเหรียญและ stepอีกชั้นของขอบเหรียญด้านใน จะมีลักษณรอยกลึงตลอดพื้นขอบเหรียญ
6) ที่5นาฬิกา สังเกตตรงสังฆาฏิ จะมีเส้นแตกเฉียงขึ้นไปจากขอบเหรีญด้านใน(เห็นชัดด้วยตาเปล่า)
7) มีเส้นพาดจากกลางใบหูหลวงพ่อ(ฝั่งขวามือของเรา) พาดขวางไปจนชนขอบเหรียญ
8) ที่พื้นเหรียญบริเวณเหนือศีรษะของหลวงพ่อจะมีเส้นเสี้ยนคล้ายสายฝนเอียงๆตามแนวขวางอยู่เป็นจำนวนมาก
9) มีก้อนเนื้อเกินใหญ่ ใต้ติ่งหูหลวงพ่อ(ฝั่งซ้ายมือของเรา)
10) การแกะบล็อกจะสวยสมจริงมากเมื่อส่องดูแล้วรายละเอียดต่างๆชัดเจน ผิวหนังก็เหมือนผิวหนังจริงๆ
ตำหนิเหรียญพญาวันมหาโชค เนื้อนวะด้านหลัง
1) ที่พื้นขอบใต้คอหูเหรียญจะมีตำหนิของบล็อกอยู่เป็นร่องยาวๆเห็นชัดด้วยตาเปล่า
2) คำว่าเกษม มีตุ่มกลมเล็กๆอยู่บนตัว ษ
3) มีตอก number เหนือสัญลักษณ์ดอกจันทุกองค์(ถ้าไม่มีถือว่าไม่ได้อยู่ในพิธี)
4) ตามขอบเหรียญมีครีบปลิ้นโดยเฉพาะรอบๆหูเหรียญ
5) ตามตัวอักษรสังเกตที่พื้นเหรียญจะมีเส้นเสี้ยนจากการแกะบล็อกอยู่เป็นจำนวนมาก
6) เนื้อนวะตอกโค๊ตเจดีย์ ที่ด้านขวาล่าง
7) บริเวณพื้นเหรียญแถวๆเหนือดอกจันจะมีเส้นๆคล้ายฝนตกตรงๆอยู่เป็นจำนวนมาก
ขอบตัดเหรียญพญาวันมหาโชค เนื้อนวะ
ที่ประมาณ 11นาฬิกาจะมีร่องบากที่แคบแต่ลึกติดกัน 2 ร่องและรอยตัดที่คอเหรียญ(ฝั่งซ้ายมือของเรา) ร่องรอยการตัดจะมีเป็นซี่คมๆถี่ๆประมาณ 2-3 ร่อง