“เหรียญบำบัดทุกข์บำรุงสุข” หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “เหรียญระฆังหลังสิงห์” เป็นอีกหนึ่งรุ่นที่มีประสบการณ์และแท้ทัน หลวงพ่อเกษม เขมโก ปลุกเสก เมื่อปี พ.ศ.2537 เหรียญรุ่นนี้ชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านจังหวัดลำปาง ขออนุญาติให้หลวงพ่อเกษม เขมโก ปลุกเสกเพื่อนำไปให้ชาวบ้านเช่าบูชา หาเงินให้กับชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน หลวงพ่อท่านก็ยินดีที่ปลุกเสกให้
ในช่วงเช้าวันที่ปลุกเสก ณ สุสานไตรลักษณ์ ก่อนที่หลวงพ่อจะมาทำพิธี อากาศแจ่มใสดีมาก ท้องฟ้าปลอดโปร่ง แต่ในทันทีที่ลูกศิษย์ได้เข็นเก้าอี้ที่หลวงพ่อนั่งเข้ามาในบริเวณที่จะทำพิธีการปลุกเสก ปรากฏว่าเกิดมีเมฆมาบดบังแสงแดด เกิดเป็นร่มเงาจนท้องฟ้ามืดมิด อีกทั้งยังมีลมพัดรุนแรงมาก
แต่เมื่อหลวงพ่อท่านทำพิธีเสร็จ ปรากฏว่าลมได้หยุดพัด แสงแดดก็กลับมาเป็นปกติ นับเป็นปาฏิหาริย์ที่เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็นแก่ผู้ที่อยู่ในพิธี เพราะก่อนที่หลวงพ่อท่าน จะออกจากห้องมา ท้องฟ้าก็ยังแจ่มใส มีแสงแดดเป็นปกติ เรื่องนี้มีพยานรู้เห็นอยู่ในเหตุการณ์เป็นจำนวนมาก ทั้งชาวบ้าน ทั้งกำนัน สารวัตรกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทั่วทุกหมู่บ้านของจังหวัดลำปาง (เรื่องเล่าโดยคุณเลื่อน แม่บ้าน อดีตผู้ใหญ่บ้านดอนแก้ว อ.เมืองปาน จ.ลำปาง)
ที่มา : หนังสือประวัติหลวงพ่อเกษม เขมโก รวบรวมและเรียบเรียงโดยคุณบุญหลง ถาคำฟู ปีที่พิมพ์ พ.ศ.2549
อีกทั้งยังมีประสบการณ์มากมาย เช่น เหตุการณ์รถชนต้นไม้บนถนนเส้น อ.วังชิ้น จ.แพร่ มุ่งหน้าไป อ.ศรีสัชนาลัย โดยเป็นการชนต้นไม้ที่ล้มขวางถนนในช่วงโค้ง ทำให้คนขับมองไม่เห็น ชนเข้าเต็มแรงแบบไม่มีเบรก แต่คนในรถทั้ง3คนกลับไม่เป็นอะไรเลย เมื่อดูในรถก็พบว่ามีเหรียญระฆังหลังสิงค์อยู่เพียงองค์เดียวเท่านั้น !!
เหรียญบำบัดทุกข์บำรุงสุข มีการจัดสร้างทั้งหมด 3 เนื้อโลหะดังนี้
- เนื้อทองแดง ไม่ทราบจำนวนการสร้างที่แน่ชัด แต่มีบันทึกไว้ว่า1คันรถหกล้อ(เนื้อทองแดงจำนวนการสร้างเยอะทำให้ราคาเช่าหายังไม่สูง สำหรับท่านที่ศรัทธาหลวงพ่อเกษม แต่ปัจจัยมีจำกัดแนะนำให้บูชาเนื้อทองแดงครับ)
- เนื้อเงิน จำนวนการสร้างน้อยหมุนเวียนในตลาดน้อย
- เนื้อทองคำ จัดสร้างตามจำนวนการสั่งจอง พบเจอน้อยมาก
โดยในบทความนี้กระผม ณัฐ มงคลเกษม จะขอพูดถึงตำหนิเฉพาะเนื้อทองคำก่อนนะครับ โดยองค์นี้ผมได้มาจากท่านที่เป็นกำนันเก่า ตอนที่ได้มาอยู่ในกล่องเดิมๆเลย ผมเอาไปยิงเปอร์เซ็นต์ทองแล้ว ส่วนผสมของทองคำอยู่ที่ 90.70 เปอร์เซ็นต์
ตำหนิเหรียญบำบัดทุกข์บำรุงสุข เนื้อทองคำด้านหน้า
1) ตามร่องของกนกจะมีเส้นเสี้ยนเป็นจำนวนมาก
2) ตรงมุมของขอบเหรียญประมาณช่วง 7นาฬิกา สังเกตดูรอยตัดจะนูนขึ้นปลิ้นออกมาอย่างขึ้นเห็นได้ชัด
3) มีกระแสเหรียญที่จากการปั๊มกระแทกตลอดพื้นเหรียญ
4) เนื้อทองคำเล็บมือจะคมชัดกว่าเนื้อโลหะแบบอื่น
5) ตรงคำว่าบำรุงสุข สังเกตที่ตรงมุมขวาบน จะมีจุดเล็กมากๆอยู่ 1 จุด
ตำหนิเหรียญบำบัดทุกข์บำรุงสุข เนื้อทองคำด้านหลัง
1) ด้านบนสุดของหูเหรียญสังเกตที่ขอบจะมีครีบปลิ้นใหญ่ๆเห็นได้ชัด และสังเกตุที่ด้านล่างของหูเหรียญช่วงที่เป็นโค้ง ขอบเหรียญด้านใน เมื่อมองด้วยตาเปล่าจะเห็นได้ว่าทรงกลมมีลักษณธเบี้ยวไปทางซ้าย
2) สังเกตที่บั้นท้ายของสิงห์แถวโคนหางจะมีเส้นขีดพุ่งขึ้นไปจนถึงขอบ
3) เหนือคำว่า “ขอ” บางเหรียญจะมีเส้นบางๆพุ่งขึ้นไป
4) ตามพื้นขอบเหรียญจะมีรอยตะไบห่างๆเป็นแนวตั้ง เห็นได้อย่างชัดเจน
5) ที่พื้นขอบเหรียญบริเวณ5นาฬิกามีหลุมยุม
6) ตรงเลข ๒๕๓๗ เหนือเลข ๓ จะมีจุดเล็กมากๆอยู่ 1 จุดแถวๆขอบบน
7) ให้สังเกตุตรงคำว่า “เมษายน พ.ศ ๒๕๓๗” ใต้คำดังกล่าวที่พื้นเหรียญจะมีลักษณะเป็นร่องหลุมยาวตามแนวขวาง หลายหลุม(ตามภาพประกอบด้านล่าง)
ลักษณะขอบตัดเหรียญบำบัดทุกข์บำรุงสุข
เนื้อทองคำโลหะมีความอ่อนตัวกว่าเนื้อทองแดงทำให้คมตัดจะเข้าลึกและมีรอยฉีกออกน้อย และลักษณะของความหยาบของรอยฉีกเนื้อทองคำจะมีความละเอียดมากกว่าเนื้อทองแดงอย่างเห็นได้ชัด
ให้สังเกตุที่ 12 นาฬิกาเหนือหูเหรียญจะมีร่องบากใหญ่ และเบี่ยงลงไปอีกเล็กน้อยก็จะมีอีกร่องบากหนึ่ง
และอีกจุดหนึ่งให้สังเกตุที่ 10 นาฬิกา(ช่วงคำว่า เจ้า ร่องบากจะตรงกับตัว จ )จะมีลำบากที่ลึกอยู่ 2 ร่อง